วันพุธที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

วิเคราะห์ปัญหา IT กับธุกิจในปัจจุบัน (อ.สุรินทร์)

อินเทอร์เน็ตกับธุกิจการเกษตร

ธุรกิจการเกษตรไทย
ธุรกิจการเกษตรหากนิยามแบบง่าย ๆ ก็คือกระบวนการทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ซึ่งครอบคลุมทุกด้าน ตั้งแต่การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ กระบวนการผลิต การแปรรูป การรักษา การขนส่ง การจำหน่าย และอื่น ๆ หรือกล่าวรวมคือทุกส่วนที่เกี่ยวกับการเกษตร ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเกษตรมีเป็นจำนวนมาก เช่น เกษตรกร นักวิชาการ บริษัทขนส่ง บริษัทแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร กระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก การประกอบกิจกรรมการเกษตรมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จากการใช้แรงงานคนและสัตว์ มาเป็นการใช้เครื่องมือเครื่องจักรมากขึ้นตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รูปแบบของการผลิตเพื่อใช้ยังชีพในครอบครัวก็เปลี่ยนมาเป็นการผลิตเพื่อการค้า

อาชีพเกษตรกร

ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องใช้ความรู้ ความเข้าใจ และต้องมีความสามารถในการแก้สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ สังคมไทยยังให้ความสำคัญกับเรื่องของวุฒิการศึกษามากเกินไป ทำให้เกษตรกรจำนวนมากรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าผู้อื่น สิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้พิจารณาคือ การให้การยอมรับในประสบการณ์และความสามารถ ภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ควรให้การสนับสนุนในส่วนของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรในรูปแบบที่เหมาะสม และถูกต้องแก่เกษตรกรมากยิ่งขึ้น เพื่อที่เกษตรกรจะสามารถใช้ข้อมูลเหล่านั้นในการประกอบการ และยังเป็นการเพิ่มพูนความรู้ด้วย เป็นที่มั่นใจได้ว่า หากเกษตรกรสามารถใช้ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ปัญหาต่าง ๆ ก็จะลดลง

การแก้ปัญหา (ที่ผ่านมา)
การแก้ปัญหาวิธีหนึ่งก็คือก
ารเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิตต่อหน่วยให้สูงขึ้น รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าการเกษตร เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อพิจารณาถึงปริมาณและคุณภาพของผลผลิตการเกษตรต่อพื้นที่ของไทยกับประเทศที่พัฒนาแล้วพบว่า ทั้งปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรยังต่ำกว่าประเทศที่มีการพัฒนาแล้วมาก ดังนั้นการพัฒนาธุรกิจการเกษตรของไทยจึงจำเป็นต้องพึ่งเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการดำเนินการให้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีการประยุกต์ให้เหมาะสมกับการนำมาใช้งานด้วย มิฉะนั้นจะกลายเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า

เทคโนโลยีสารสนเทศกับการเกษตร หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานการเกษตรได้พยายามนำระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยในการส่งเสริมการเกษตรและธุรกิจการเกษตร มีการสร้างแหล่งข้อมูลการเกษตร โดยรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรมาเก็บไว้ในรูปแบบดิจิตอลเพื่อเป็นองค์ความรู้สำหรับผู้ที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักวิจัย เกษตรกร หรือพ่อค้าก็ตาม สามารถให้ผู้ที่ต้องการใช้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็วผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต องค์ความรู้หรือรูปแบบของข้อมูลที่จะนำเสนอในงานเกษตรนั้น นอกจากต้องมีความถูกต้อง แม่นยำสมบูรณ์แล้ว ยังต้องมีรูปแบบของการนำเสนอให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละกลุ่มที่ใช้งานข้อมูล ตัวอย่างเช่น นักวิจัยกับเกษตรกรมีความต้องการลักษณะข้อมูลที่แตกต่างกัน นักวิจัยอาจต้องการข้อมูลที่เป็นตัวเลขเป็นสถิติ สำหรับการวิเคราะห์ การพยากรณ์ ในขณะที่กลุ่มของเกษตรกรนั้นต้องการข้อมูลที่เข้าใจถูกต้อง เชื่อถือได้ เข้าใจได้ง่าย และสามารถนำไปปฏิบัติจริงได้ ดังนั้นรูปแบบการนำเสนอองค์ความรู้ ข้อมูลและข่าวสารคงต้องมีความเหมาะสมในแต่ละกลุ่มด้วย

เกษตกรกับอินเทอร์เน็ต
คงไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงคำถาม
ที่ว่า เกษตรกรจะใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างไร หากตอบว่าเกษตรกรของไทยในปัจจุบันนั้นมีทั้งจบปริญญาตรี ปริญญาโท หรือแม้แต่ปริญญาเอกก็มี คงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องนัก เพราะเกษตรกรกลุ่มนี้เป็นส่วนที่น้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับเกษตรกรส่วนใหญ่ที่ยังมีการศึกษาที่ไม่สูงนัก และมีฐานะที่ยากจน อีกทั้งบางพื้นที่นั้นยังเป็นถิ่นทุรกันดาร ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการให้ความรู้หรือข้อมูลที่อยู่ในเครือข่ายไปสู่เกษตรกรให้ได้ หากเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่ประชุมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2543 ที่ได้มีการเสนอวาระเข้าที่ประชุม เพื่อจะมีการขยายอินเทอร์เน็ตให้เข้าถึงหมู่บ้านทุกแห่งทั่วประเทศประมาณ 7,000 ตำบล โดยให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นหน่วยงานหลักในการติดต่อผ่านทางอินเทอร์เน็ต จึงเป็นอีกงานหนึ่งของ อบต. ที่จะต้องเป็นเสมือนตัวกลางในการสื่อความรู้และข่าวสารแก่กลุ่มเกษตรกร ในส่วนนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าห่วง ไม่ใช่กลัวว่ากลุ่มผู้บริหาร อบต. จะไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ต เนื่องจากในประเด็นนี้ส่วนกลางคงมีการจัดการอบรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตและการนำข้อมูลไปใช้งานจริง แต่ที่เป็นห่วงก็คือกลัวว่าคอมพิวเตอร์นั้นจะกลายเป็นเครื่องเล่นเกมออนไลน์ หรือเป็นขยะชิ้นหนึ่งที่ไม่มีการใช้งานแทน นอกจาก อบต. แล้ว หน่วยงานอื่นอย่างเช่น เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ สถาบันการศึกษาท้องถิ่น ก็จำเป็นที่ต้องช่วยส่งเสริมในการจัดการข้อมูลการเกษตร เช่น ช่วยสร้างข้อมูลการเกษตรของแต่ละท้องถิ่น ประยุกต์ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ให้เหมาะกับการเกษตรท้องถิ่น หรือให้การอบรมให้เกษตรกรสามารถใช้อินเทอร์เน็ตในระดับหนึ่งได้

พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับธุรกิจการเกษตรไทย

ศูนย์พัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือ ECRC ได้พยายามเข้ามาเป็นส่วนในการสนับสนุนให้มีการนำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมและธุรกิจต่าง ๆ รวมทั้งธุรกิจการเกษตรด้วย โดยได้มีการจัดประชุมสัมมนาหลายครั้ง นอกจากนี้ยังมีอีกหลายหน่วยงาน เช่น ศูนย์สนเทศทางการเกษตรแห่งชาติ กรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรของไทย ได้พยายามนำเสนอข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต ในส่วนของบริษัท ห้างร้าน ก็ได้เริ่มมีการประกอบธุรกิจการเกษตร โดยใช้ระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์บ้างแล้ว
การนำระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับธุรกิจการเกษตรนั้น สามารถทำได้หลายรูปแบบเช่นเดียวกับสินค้าประเภทอื่น เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเกษตร การซื้อขายสินค้าทางการเกษตร การเผยแพร่การประชาสัมพันธ์สินค้าทางการเกษตร ซึ่งเกษตรกรหรือกลุ่มธุรกิจการเกษตรจำเป็นต้องวิเคราะห์รูปแบบการนำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาใช้ให้เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด เช่น กลุ่มธุรกิจการเกษตรที่ส่งออกอาจใช้ระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์และสินค้าทางการเกษตร รวมทั้งการสั่งสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต หรือกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรก็สามารถนำเสนอและขายสินค้าการเกษตรที่แปรรูปแล้วผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้เช่นเดียวกัน

การนำเสนอธุรกิจการเกษตรบนอินเทอร์เน็ต
หน่วยงานและองค์กรของรัฐเริ่มมีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารการเกษตรบนอินเทอร์เน็ตในรูปแบบของการให้ข้อมูลและความรู้ สำหรับบริษัทเอกชน กลุ่มเกษตรหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเกษตร หากต้องการใช้อินเทอร์เน้ตเป็นเครื่องมือหนึ่งในการประกอบธุรกิจการเกษตรก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน การนำเสนอธุรกิจการเกษตรบนอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับการนำเสนอทั่วไปที่ประกอบด้วยการแนะนำตัว ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหรือกลุ่มเกษตรกร เพื่อสร้างความมั่นใจ รายละเอียดของสินค้า เช่น ลักษณะ รูปร่าง สี ขนาด ราคา และอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับผลผลิตนั้น ๆ และสิ่งสำคัญคือจะต้องสามารถติดต่อ แสดงความคิดเห็น และตรวจสอบผู้ประกอบการได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนที่สำคัญที่สุดก็ยังอยู่ที่คุณภาพของผลผลิต การตลาดและยังคงต้องการความสนับสนุนจากภาครัฐในช่วงเริ่มต้น

สรุป
แม้การใช้อินเทอร์เน็ตจะไม่ใช่ทางแก้ปัญหาการเกษตรทั้งหมด แต่ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้การเกษตรมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี และเมื่อเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลง รุปแบบขององค์กร การบริหาร การดำเนินการต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนไปให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ดังที่มีรูปแบบที่เรียกว่า Managing Technological Change เพื่อรองรับกับการแข่งขันที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การประกอบธุรกิจการเกษตรจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน และที่สำคัญคือไม่สามารถมองข้ามความสำคัญของเทคโนโลยีได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เกษตรและบุคลากรการเกษตรที่เป็นผู้ใช้ข้อมูลและเครือข่ายจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเพื่อที่จะสามารถใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รายชื่อเว็บไซท์ทางการเกษตร สามารถหาเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สนเทศทางการเกษตรแห่งชาติ หรือที่ www.thaiagris.lib.ku.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น: